วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ประโยชน์ของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมีประโยชน์มาก คือ
1. ทำคนให้ฉลาด เพราะจะรู้จักทั้งบัญญัติและปรมัตถ์เป็นอย่างดี ละเอียดรอบคอบขึ้นมาก
2. ทำคนให้มีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
3. ทำคนให้สนิทสนมกลมกลืนกัน กรุณาเอ็นดูสงสารกัน พลอยยินดีอนุโมทนาสาธุการเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี
4. ทำคนให้เว้นจากเบียดเบียนกัน เว้นจากการเอารัดเอาเปรียบกัน
5. ทำคนให้รู้จักตัวเอง และรู้จักปกครองตัวเอง 
6. ทำคนให้ว่านอนสอนง่าย ไม่มานะถือตัว ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
7. ทำคนให้หันหน้าเข้าหากัน เพราะต่างฝ่ายต่างลดทิฏฐิมานะลง
8. ทำคนให้หนักแน่นในกตัญญูกตเวทิตา
9. ทำคนให้เป็นผู้ประเสริฐ เพราะเหตุว่า การปฏิบัติธรรมนี้ย่อมเป็นไปเพื่อคุณสมบัติเหล่านี้ คือ
9.1 เพื่อละนิวรณ์ 5
9.2 เพื่อละกามคุณ 5
9.3 เพื่อหัดให้คนเป็นผู้รู้จักประหยัด
9.4 เพื่อละอุปาทานขันธ์ 5
9.5 เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท
9.6 เพื่อละคติ 4 คือ นรกภูมิ เปตติวิสัยภูมิ อสุรกายภูมิ และดิรัจฉานภูมิ เมื่อได้ญาณ 16 ในวิปัสสนากรรมฐานโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติ (พระโสดาบันเกิดไม่เกิน7ชาติเป็นอย่างมาก) ส่วนสมถกรรมฐานเมื่อได้ฌานที่ 1 ขึ้นไปก็อาจนำไปเกิดในพรหมโลกได้แต่ก็ยังคงเวียนว่ายมาเกิดในอบายถูมิ4ได้อีกในชาติต่อๆไป ดังนั้น สมถกรรมฐานจึงไม่ใช่การปฏิบัติที่ละ อบายภูมิ 4 ได้โดยเด็ดขาด
9.7 เพื่อละความตระหนี่ 5 คือ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม
9.8 เพื่อละสังโยชน์เบื้องบน คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
9.9 เพื่อละตะปูตรึงใจ 5 คือ สงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขา ความโกรธไม่พอใจในเพื่อนพรหมจรรย์
9.10 เพื่อละเครื่องผูกพันจิตใจ 5 คือ ไม่ปราศจากความชอบใจทะยานอยากในกาม ในรูป ความสุขในการกิน การนอน การรักษาศีลเพื่อเทพนิกาย
9.11 เพื่อก้าวล่วงความโศกเศร้าเสียใจ (ทุกข์ทั้งหลาย) ดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
อานิสงส์อย่างสูงให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างกลางก็ให้สำเร็จเป็นพระอนาคามี สกทาคามี โสดาบัน อย่างต่ำไปกว่านั้นที่เป็นสามัญ ก็เป็นผู้ที่มีคติเที่ยงที่จะไปสู่สุคติ
ชื่อว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิบัติบูชา
ชื่อว่า เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า
ชื่อว่า เป็นผู้ได้บำเพ็ญสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะมีสติอยู่กับรูปนามเสมอ ความไม่ประมาทนั้นคือ อยู่อย่างมีสตินั่นเอง
ชื่อว่า ได้เป็นผู้ทรงธรรม
ชื่อว่า ได้เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้อง
ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ทางสายกลางชื่อว่า ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง คือถึงด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติ คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่ ภังคญาณ เป็นต้นไป จนถึง มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ

                                         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น